Anneal Glass
กระจกใส (Anneal Glass หรือ Float Glass) เป็นวิธีการผลิตกระจกที่เข้ามาแทนที่ Sheet Glass ซึ่งเป็นกระจกที่ถูกผลิตเป็นรุ่นแรก ๆ จึงยังมีความไม่เรียบของผิวกระจก มีลักษณะที่เป็นลอนๆ อยู่บ้าง ทำให้ภาพบิดเบือน ต่อมาจึงมีการพัฒนากระบวนการผลิตโดยการปล่อยน้ำกระจกให้ไหลลอยไปขึ้นรูปบนผิวดีบุกหลอม แล้วปล่อยให้น้ำกระจกนี้เซ็ตตัวเองตามธรรมชาติ ซึ่งระหว่างกระบวนการจะมีการควบคุมอุณหภูมิและความดันไว้อย่างดี ทำให้ได้แผ่นกระจกที่มีผิวเรียบสม่ำเสมอตลอดทั้งแผ่น มีความโปร่งแสงสูง เรียกกระจกที่ผลิตด้วยวิธีนี้ว่า “กระจกวัตถุดิบ (Annealed Glass)”
Low Iron Glass
กระจกใสพิเศษ (Low Iron Glass) เกิดจากขบวนการผลิต โดยการลดสาร Iron Oxide ในวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตกระจก ทำให้ความเขียวในเนื้อกระจก ( Greenish Tint) ลดลง โดยปกติแล้ว ความเขียวในเนื้อกระจก จะชัดเจนมากขึ้น เมื่อกระจกมีความหนามากขึ้น จะสังเกตเห็นได้ชัดเจน โดยการมองดูจากด้านสันของกระจกด้วยความใสพิเศษของกระจกชนิดนี้ ทำให้เหมาะกับการใช้งานหลากหลายทั้งงานตกแต่งภายนอก และภายใน รวมทั้งงานเฟอร์นิเจอร์กระจก ที่ต้องการเน้นความใสของกระจกมากเป็นพิเศษ
Tinted Glass
กระจกสี (Tinted Glass) มักเรียกกันว่า "กระจกตัดแสง" เกิดจากกระบวนการเติมโลหะออกไซด์ในเนื้อกระจกเพื่อให้เกิดสีสันแตกต่างกันไป และเกิดความสวยงาม มีคุณสมบัติในการดูดกลืนความร้อนจากแสงอาทิตย์ที่ส่งมากระทบผิวกระจก ความจ้าของแสงที่ส่งผ่านกระจกสีทำให้ได้แสงที่นุ่มนวลและเกิดความสบายตาในการมอง สีของกระจกยังสามารถช่วยตัดแสงที่จะส่องเข้ามาในตัวอาคาร ทำให้ประหยัดพลังงานภายในอาคาร
Tempered Glass
กระจกนิรภัยเทมเปอร์ (Tempered Glass ) หรือที่เรียกว่า กระจกอบ คือการนำกระจกธรรมดาไปผ่านกระบวนการอบที่ความร้อนสูงประมาณ 650 องศาเซลเซียส แล้วนำมาเป่าด้วยลมแรงดันสูงให้เย็นตัวลงทันที เพื่อให้กระจกเกิดความแข็งแกร่งกว่าเดิม 3-5 เท่า ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ และมีความปลอดภัยมากขึ้น ในกรณีที่กระจกเทมเปอร์เกิดการแตกหัก จะแตกออกเป็นเม็ดคล้ายเม็ดข้าวโพด ซึ่งมีความแหลมคมไม่มาก จึงมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน มีค่าความแข็งแรงต่อแรงดึงและแรงที่ทำให้หักงอ เมื่อเปรียบเทียบกับกระจกธรรมดา ที่ความหนาเท่ากัน
Laminated Glass
กระจกลามิเนต (Laminated Glass) จัดเป็นกระจกนิรภัยชนิดหนึ่ง ที่เวลาแตกแล้วเศษกระจกจะยังคงยึดติดกันโดยไม่ร่วงหล่น เพราะมีชั้นฟิล์มที่ยึดเกาะระหว่างแผ่นกระจก โดยเป็นการนำเอากระจกนิรภัยเทมเปอร์ หรือกระจกใสธรรมดา จำนวน 2 แผ่น หรือ มากกว่า แล้วนำมาประกบติดกันโดยมีชั้นฟิล์มคั่นกลางระหว่างกระจก เราจึงเรียกกระจกที่ผ่านกระบวนการผลิตในลักษณะนี้ว่า กระจกลามิเนต มีคุณสมบัติช่วยป้องกันเสียงรบกวนภายนอก และเก็บเสียงได้ดีกว่ากระจกธรรมดา ทนต่อแรงดันลมในที่สูง ทนต่อแรงอัดกระแทก และช่วยป้องการบุกรุกจากการโจรกรรมได้ สามารถเคลือบสีได้ตามความต้องการ
Heat Strengthen Glass
กระจกนิรภัยแข็งแรงพิเศษ (Heat Strengthen Glass) เป็นกระจกที่ผลิตด้วยกระบวนการเดียวกับกระจกนิรภัยเทมเปอร์ คือการนำเอากระจกโฟลตมาอบเพื่อให้ได้คุณสมบัติความแข็งแรงเพิ่มมากขึ้น โดยใช้ความร้อนในการอบที่ 650-700 องศาเซลเซียส แต่กระบวนการทำให้กระจกเย็นลง จะทำแบบช้าๆด้วยการเป่าลมที่ผิวกระจกทั้ง 2 ด้าน เนื้อกระจกมีคุณสมบัติพิเศษที่แข็งแรงกว่ากระจกธรรมดาถึง 2 เท่า ทำให้สามารถรับแรงกระแทก แรงกด แรงบีบ ได้ดี ทนต่อแรงดันของกระแสลมในที่สูง เมื่อกระจกปริแตก รอยร้าวจะวิ่งเข้าหาขอบเฟรมกระจก ซึ่งรอยร้าวดังกล่าวจะมีจำนวนไม่มาก จึงทำให้กระจกยังเป็นชิ้นใหญ่ๆ ซึ่งมีขนาดใหญ่มากกว่าการแตกร้าวของกระจกทั่วไป
Reflective Coated Glass
กระจกกสะท้อนแสงประหยัดพลังงาน (Reflective Coated Glass) ผ่านกระบวนการเคลือบผิวด้วยโลหะออกไซด์ที่มีค่าการสะท้อนแสงสูงจึงทำให้มีความโปร่งแสงน้อย ทำให้แสงอาทิตย์และรังสีความร้อนผ่านเข้ามาในอาคารได้น้อย ช่วยลดแสงที่แรงจ้าให้นุ่มนวลลง ป้องกันดวงตาจากแสงสะท้อนและทำให้ตึกดูโดดเด่น ให้ความรู้สึกเป็นส่วนตัวแก่คนภายในอาคาร เนื่องจากมองทะลุเข้ามาในตัวอาคารได้ลำบาก แต่คนภายในมองออกภายนอกได้ชัด
Low-E Glass
กระจกประหยัดพลังงาน (Low-E Glass) เป็นกระจกที่มีการสะท้อนความร้อน และสะท้อนแสง ช่วยลดการใช้พลังงานภายในอาคาร ลดการทำงานและยืดอายุของระบบปรับอากาศ รวมทั้งประหยัดค่าไฟฟ้า โดยที่ยังให้ความสว่างภายในอย่างเพียงพอ และมีความทนทานต่อรอยขีดข่วนดูแลรักษาง่ายสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในงานหลากหลายรูปแบบ เหมาะสำหรับใช้ทำผนังอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง หรือสถานที่ที่ต้องการควบคุมเสียงและอุณหภูมิ นอกจากนี้ยังให้ความเรียบหรูทันสมัยในแบบโมเดิร์นอีกด้วย
Insulating Glass
กระจกฉนวน 2 ชั้น (Insulated Glass) คือ กระจกดัดแปลงด้วยกระบวนการต่างๆ เพื่อตอบสนองจุดประสงค์การใช้งานในการป้องกันความร้อน และการประหยัดพลังงานเป็นหลัก โดยการนำกระจกตั้งแต่ 2 แผ่นขึ้นไปมาประกบกัน (กระจกที่นำมาใช้เลือกได้หลายประเภท) โดยมีเฟรมอลูมิเนียมหรือซิลิคอน และช่องว่างคั่นกลางระหว่างกระจกทั้ง 2 แผ่น โดยช่องว่างดังกล่าวจะบรรจุสารดูดความชื้นแล้วใส่ฉนวน จึงทำให้ประหยัดการใช้พลังงานภายในอาคารได้มากขึ้น ไม่ทำให้เกิดฝ้า หรือ หยดน้ำ แม้ว่าอุณหภูมิภายในกับภายนอกจะแตกต่างกันมาก ช่วยลดเสียงรบกวนจากภายนอกอาคารได้ดีกว่ากระจกธรรมดา